Lost in translation (1)

ถ้าจะลองแปลวลี "Lost in translation" อย่างคำต่อคำก็อาจได้เป็น สูญหายในการแปล, หลงทางในงานแปล หรือแม้กระทั่ง พ่ายแพ้ในการเคลื่อนย้ายอย่างขนาน คำแปลแรกเป็นผลที่ได้จาก Google Translate ซึ่งน่าจะตรงกับความหมายที่ต้องการที่สุด หรือถ้าจะขยายความสักนิดก็อาจใช้ว่า "นัยยะที่หายไปจากคำแปล"

ด้วยความโชคดี ที่ได้เรียนรู้ภาษาอยู่หลายภาษาอยู่ (ไทย, ญี่ปุ่น, อังกฤษ, C++, Python, ... :-P) จึงมีโอกาสได้เห็นปรากฏการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ โดยเฉพาะในการ์ตูน หนัง หรือนิยายที่แปลมาจากภาษาต้นฉบับ บทความในชุด "Lost in translation" นี้ ตั้งใจจะนำเสนอตัวอย่างการแปลที่หลงประเด็น หรือเกิดการสูญหายของเนื้อความในภาษาเดิมเหล่านี้ ประกอบกับคำอธิบายถึงสาเหตุของการแปลที่สูญเสียนัยยะเหล่านี้ เพื่อผู้อ่านจะได้เกิดความกระจ่าง เข้าถึงอรรถรสของงานต้นฉบับมากขึ้น และได้สัมผัสถึงวัฒนธรรมทางภาษาที่แตกต่างกัน (ระวัง: เนื้อหาจริงอาจไร้สาระกว่าคำโฆษณา) ถ้าท่านผู้อ่านพบเห็นการ "Lost in translation" (เฉพาะภาษาญี่ปุ่น, อังกฤษนะครับ) ที่อยากให้ผู้เขียนวิเคราะห์ก็เชิญแปะทิ้งไว้ในคอมเมนต์นะครับ จะได้หาโอกาสมาคุยกัน

ฉบับปฐมฤกษ์ขอเริ่มด้วยการ์ตูนอิคคิวซัง ซึ่งผู้เขียนชอบดู และสงสัยมาตั้งแต่เด็ก ที่บางตอนดูจะอธิบายแบบข้างๆ คูๆ ไปบ้าง

นัยยะที่หายไปครั้งนี้เกิดในตอนที่คิเคียวยะเชิญอิคคิวมาที่ร้าน แต่สะพานหน้าร้านติดป้ายว่า "ห้ามข้ามสะพานนี้" อิคคิวใช้ 'หมองนั่ง 'มาธิอยู่แป๊บก็เดินดุ่ยๆ มากลางสะพานเลย ถ้าจำไม่ผิดในภาคภาษาไทยอิคคิวอธิบายว่า "ผมไม่ได้ข้าม ผมเดินบนสะพานต่างหาก" (ถ้าใครมีต้นฉบับจริงช่วยตรวจให้ด้วยครับ) ซึ่งตอนเด็กๆ ก็งงๆ อยู่เหมือนกัน รู้สึกว่าอิคคิวช่างกวนตีOซะจริง แต่หลังจากได้เรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นดีขึ้น และเข้าใจความหมายที่แท้จริงของฉากนั้นแล้ว ก็รู้สึกชื่นชมคนแปล ว่ามีไหวพริบในการแปลที่ยอดเยี่ยมจริงๆ ท่านที่นึกไม่ออกว่าตอนไหน ดูคลิปข้างล่างครับ (ฉากที่พูดถึงอยู่ในช่วงเวลา 0:44-1:01 ครับ)


ป้ายปากทางสะพานเขาเขียนไว้ว่า "このはしわたるべからず" ซึ่งแปลว่า "สะพาน (hashi) นี้ห้ามข้าม" ทีนี้ภาษาญี่ปุ่นมันมีคำพ้องเสียงกันเยอะครับ คำว่า สะพาน (hashi) นั้นก็พ้องกับ ตะเกียบ และ ขอบ อีกด้วย ในภาคญี่ปุ่นที่อิคคิวเดินดุ่ยๆ กลางสะพานนั้น อิคคิวก็อธิบายไว้ทำนองว่า "ไม่ได้ข้ามมาตามขอบๆ นะ แต่ข้ามมาตรงกลางต่างหาก"

ประเด็นนี้ชี้ให้เห็นถึงความยากในการเป็นล่ามภาษาญี่ปุ่น นั่นคือ หากฟังเพียงเสียงคำ จะไม่สามารถรู้ได้ว่าผู้พูดหมายถึงสะพาน, ตะเกียบหรือขอบ แต่ต้องใช้เนื้อความจากประโยคแวดล้อมช่วยในการตัดสินใจ (อย่างรวดเร็ว) ว่าที่พูดมานั้นควรจะแปลว่าอะไร สำหรับภาษาเขียนยังพอมีตัวช่วยครับ คือคำที่ความหมายต่างกันก็จะเขียนโดยใช้ตัวคันจิ (อักษรที่นำมาจากภาษาจีน) แตกต่างกัน ในกรณีนี้ สะพาน=橋 ตะเกียบ=箸 ขอบ=端 ใช้ตัวคันจิต่างกัน แต่ป้ายบนสะพานเขาเขียนโดยใช้เพียงคำอ่านว่า hashi はし จึงโดนอิคคิวตลบหลังด้วยประการฉะนี้ ส่วนที่เขียนเป็นคำอ่านนี้คาดเดาว่าเพราะอิคคิวเป็นเด็ก ซึ่งอาจจจะเพิ่งเรียนตัวคันจิได้ไม่เยอะ จึงเขียนให้อ่านได้ แต่จริงๆ มันก็เป็นนิทาน (อาจจะอิงเรื่องจริงบ้าง) ไม่ควรไปคาดคั้นหาเหตุผลอะไรมาก ^_^;

สุดท้ายขอนำภาพจากวัดอิคคิว (วัดที่นักบวชอิคคิว ซึ่งเป็นต้นแบบของนิทานเรื่องอิคคิวซัง อาศัยอยู่ในบั้นปลายชีวิต) ที่ได้ทำป้าย "สะพานนี้ห้ามข้าม" (รูปประโยคที่ใช้อาจต่างจากในการ์ตูนอยู่บ้าง แต่ความหมายเดียวกันครับ) ให้นักท่องเที่ยวได้ชมกันด้วย

1 comment:

  1. สนุกดีค่ะ รอภาคต่อปาย :D

    ReplyDelete