ไฮกุ

วันนี้มาเขียนเรื่องแหวกแนวสักหน่อย เผื่อว่าจะเรียกแขกได้บ้าง

เมื่อไม่นานมานักได้อ่านนิยายที่มีการกล่าวถึงไฮกุ (โดยส่วนตัวอ่านว่า "ไฮคุ" แต่ขอสะกดตามในวิกิพีเดียภาษาไทยว่า "ไฮกุ") ซึ่งเป็นรูปแบบกลอนแบบหนึ่งของญี่ปุ่นที่ได้ชื่อว่าเป็นบทกวีที่สั้นที่สุดในโลก เพราะหนึ่งบทประกอบไปด้วย 17 พยางค์เท่านั้น และต้องจบภายในตัวของมันเอง จึงบังคับให้นักประพันธ์ต้องเค้นแก่นสำคัญ สรุปความรู้สึกที่ต้องการถ่ายทอดด้วยถ้อยคำที่กระชับ ตรงประเด็น และเห็นภาพ

ไฮกุบังคับให้นักประพันธ์ต้องเค้นแก่นสำคัญ สรุปสิ่งที่ต้องการถ่ายทอด ให้กระชับ ตรงประเด็น และเห็นภาพ
ไฮกุนั้นไม่มีกฎเกณฑ์ เรื่องการสัมผัส มักแยกอ่านเป็น 3 วรรค แต่ละวรรคมี 5-7-5 พยางค์ ผู้แต่งจึงต้องพยายามตัดประโยคให้ตรงตามวรรค และยังมีกฎพิเศษอย่างหนึ่ง (ซึ่งในสมัยใหม่อาจไม่เคร่งครัดนัก) คือต้องมีคำที่แสดงถึงฤดูกาลที่แต่งไฮกุนั้นด้วย เช่น ฤดูหนาวก็อาจมีคำว่าหิมะ, วันขึ้นปีใหม่, ลมหนาว, ส้ม (คนเคยไปอยู่ญี่ปุ่นคงจะเข้าใจว่าทำไมส้มถึงเกี่ยวกับหน้าหนาว) เป็นต้น

นั่นคือการจะเขียนไฮกุให้ดีนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความคิดตริตรองพอสมควร ต้องสรุปรวบรวมสิ่งที่ต้องการสื่อให้มีใจความสั้นๆ ใส่สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์แสดงฤดูกาลเข้าไป และพยายามแบ่งวรรคให้อ่านแล้วทำให้ผู้อ่านคล้อยตาม ผู้อ่านก็เช่นกัน เวลาอ่านไฮกุจะต้องใช้จินตนาการมากเป็นพิเศษ คือต้องพยายามรำลึกถึงสถานการณ์ที่กวีเขียนไฮกุนี้ขึ้นมา แล้วชื่นชมกับบรรยากาศหรืออารมณ์ที่กวีสื่อผ่านตัวหนังสือ 17 พยางค์นี้

ผมจึงคิดว่าการอ่าน หรือเขียนไฮกุนั้นช่วยฝึกผู้อ่าน, ผู้เขียนได้ดีทีเดียว ทั้งในแง่ของการสรุปใจความที่ตัวเองอยากสื่อ และการจินตนาการ สร้างมโนภาพจากสิ่งที่อ่าน ขอยกตัวอย่างไฮกุที่มีชื่อเสียงสักบทหนึ่งละกัน (โดย Matsuo Basho)

古池や
蛙飛込む
水の音

แปลตรงๆ ว่า "บ่อน้ำเก่า กบกระโดดลง เสียงน้ำกระเซ็น" อืม... ไม่รู้จะวิจารณ์อย่างไรดี (เพราะตัวเองไม่ค่อยสันทัดสักเท่าไหร่) เอาเป็นว่ากวีได้สื่อทั้งภาพที่กบกระโดด และเสียงของน้ำที่กระเซ็นขึ้นมา ถ้าลองจินตนาการดู การที่จะได้ยินเสียงน้ำกระเซ็นนั้น คงต้องเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างสงบ ผิวน้ำคงสงบนิ่ง เพราะเป็นบ่อน้ำ ไม่ใช่สายน้ำ ความรู้สึกที่สื่อออกมาคือความสงบนิ่งของผิวน้ำ ความสงบของใจกวีจนได้ยินแม้กระทั้งเสียงน้ำกระเซ็น... ว่าเข้าไปนั่น :P อันนี้ก็ตามแต่ผู้อ่านจะคิดนะครับ ถือว่าฝึกจินตนาการ ที่ผมเขียนก็เดาๆ เอาตามที่จินตนาการได้

ของผมก็เคยเขียนเล่นๆ ไว้บทหนึ่ง

星空よ
ボーッと眺め
君想う

แปลว่า "ดาวบนฟ้า เฝ้ามองอย่างเลื่อนลอย ใจคิดถึงเธอ" จะตีความกันว่ายังไงนั้นให้คิดกันเป็นการบ้านละกัน หรือใครอยากจะแสดงอารมณ์ศิลปินก็เขียนทิ้งไว้ในความเห็นได้นะครับ เป็นภาษาไทย, อังกฤษ, ญี่ปุ่นก็ได้ ขอให้มี 17 พยางค์ แล้วถ้ามีบทไหนโดนใจกรรมการจะมาชื่นชมบนบล็อกครับ

1 comment:

  1. แล้วส้มเกี่ยวกะหน้าหนาวยังไงคะ ไม่เคยอยู่ญี่ปุ่น วานบอก (นึกออกแต่ ตรุษจีน ให้ส้ม เพราะส้มเป็นสัญลักษณ์ของเงินทองความอุดมสมบูรณ์ เกี่ยวไหม?)

    คุณพ่อครัวหัวป่าก์วิจารณ์แถลงการณ์สยามแดงหน่อย

    อยากเห็นนิคะ

    อันนี้เอามาฝาก

    http://siiraa.diaryis.com/?20090217

    แก้เซ็ง


    ปอ ลอ

    แอบเป็นแฟนขับคุณหัวหน้ากุ๊กค่ะ คนอะไร๊ ปากจัดสะใจ ท่าทางต้มยำหม้อนี้คงจะทานตอนเป็นปั๊บโปะในปากไม่ได้แน่นอน

    ReplyDelete