ในทางกฎหมาย (ซึ่งผู้เขียนมีความรู้เท่าหางอึ่ง อาศัยไปศึกษาจาก Wikipedia มา) จะมีหลักเกณฑ์ในการว่าความ เพื่อพิสูจน์ความผิดอยู่หลายระดับ ซึ่งใช้ในคดีความแต่ละประเภท (คดีแพ่ง, คดีอาญา) การพิสูจน์ขั้นที่เคร่งครัดที่สุด ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้ในการตัดสินคดีฆาตรกรรม มักเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "Beyond a reasonable doubt" หรือแปลตรงๆ ว่า "เกินกว่าจะมีเหตุผลให้สงสัยได้" ซึ่งถ้าชอบดูซีรีส์แนวสอบสวน หรือเกี่ยวกับทนายความแล้วก็จะพูดถึงกันอยู่บ่อยๆ ขอยกตัวอย่างสถานการณ์สมมติประกอบละกัน
อัยการ: คุณถูกพบในที่เกิดเหตุ ถืออาวุธปืนที่ใช้ฆาตรกรรมเหยื่อ คุณจะอธิบายว่าอย่างไร?
ผู้ต้องหา: ผมชอบพกปืนครับ มือมันอยู่ว่างๆ ไม่ค่อยได้
อ: คุณตั้งใจไปดักพบเหยื่อที่บ้าน เพื่ออะไร?
ผ: ไม่ได้ไปดักพบครับ บังเอิญไปแวะซื้อของ กำลังขับกลับบ้าน ปวดฉี่เลยจะขอเข้าห้องน้ำ
อ: แต่บ้านของเหยื่อไม่ได้อยู่ใกล้กับเส้นทางที่คุณไปซื้อของ (กระสุนปืน 1 กล่อง) หรือเส้นทางกลับบ้านเลย
ผ: มันบังเอิญครับ คือเข้าเลนผิด เลยต้องขึ้นทางด่วน แล้วหลงอยู่พักหนึ่งครับ
อ: คุณมีความแค้นกับเหยื่ออยู่ก่อนแล้ว โดยเคยขู่ฆ่าเหยื่อด้วย เรามีบันทึกโทรศัพท์คำขู่ของคุณ
ผ: ตอนนั้นโทรผิดครับ กะจะขู่เพื่อนเล่นๆ ดันกดเบอร์ผิด
อ: แต่เรามีบันทึกโทรศัพท์กว่าสิบครั้ง
ผ: สงสัยจะเมมเบอร์ผิดครับ
อ: มีหลายครั้งที่เหยื่อได้คุยตอบโต้กับคุณด้วย
ผ: หูผมไม่ค่อยดี ฟังเสียงคนผ่านโทรศัพท์แล้วมันฟังคล้ายๆ กันหมด
อ: คุณยืนยันว่าคุณไม่ได้ยิงเหยื่อนะ?
ผ: ไม่ได้ยิงแน่นอนครับ
อ: เรามีภาพโทรทัศน์วงจรปิด ที่แสดงว่าคุณเป็นคนยิง
ผ: อ๋อ ตอนนั้นเห็นแมลงสาบอยู่ข้างหลังเหยื่อครับ ผมเกลียดแมลงสาบมาก เลยกะยิงมัน พอดีเหยื่อตกใจขยับตัว ผมเลยยิงพลาด
อ: พลาดไปโดนกลางหน้าอกเหยื่อพอดี?
ผ: ไม่ได้ตั้งใจครับ
เป็นไปไม่ได้ที่จะมั่นใจ 100% ว่าผู้ต้องหาตั้งใจทำความผิด แต่ต้องใช้สามัญสำนึกและเหตุผลพิจารณาข้อกล่าวหาของโจทก์ และข้อแก้ต่างของจำเลย
ถามว่าเป็นไปได้ไหมที่ผู้ต้องหาให้การตามความเป็นจริง และเรื่องทั้งหมดนี้เป็นอุบัติเหตุ? เป็นไปได้ครับ แต่มีเหตุผลให้สงสัยได้ไหมว่าผู้ต้องหาไม่ได้ตั้งใจฆ่าเหยื่อจริง? คิดว่าทุกคนคงเห็นด้วยว่าไม่มีนะครับ อันนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร คดีส่วนใหญ่ก็ไม่มีพยานชี้ชัดได้ว่าอะไรเกิดขึ้น หรือถึงมีพยานก็ยังสามารถบอกว่าพยานเห็นไม่ชัด หรือตั้งใจยิงแมลงสาบก็ได้ ผู้ต้องหาย่อมต้องพยายามแก้ต่างให้ตนพ้นผิด การจะบอกว่าต้องมั่นใจ 100% ว่าผู้ต้องหาตั้งใจทำความผิดตามข้อกล่าวหาจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ มีแต่ต้องใช้หลักสามัญสำนึกและเหตุผลพิจารณาว่าข้อกล่าวหาของฝ่ายโจทก์ และข้อแก้ต่างของฝ่ายจำเลยมันมีน้ำหนักมากน้อยเพียงไร มีความน่าเชื่อถือ "เกินกว่าจะมีเหตุผลให้สงสัย" ในความผิดของจำเลยหรือไม่?ผู้อ่านอย่าเพิ่งงงนะครับ กำลังจะเข้าเรื่องแล้ว :P คือโดยมาตรฐานของผมแล้วเนี่ย คดีหลายๆ คดีเกี่ยวกับนายแม้ว เนี่ยเท่าที่ฟังข้อมูลที่สื่อมวลชนนำมาเสนอแล้ว มัน "เกินกว่าจะมีเหตุผลให้สงสัย" ได้ คือดูยังไงๆ เอ็งก็โกงอ่ะ แต่พี่แกก็ยังมาเสนอหน้าพูดว่า "ผมผิดเพราะเป็นนักการเมือง" (หรืออะไรประมาณนั้น โดยพูดถึงคำตัดสินคดีที่ดินรัชดาที่ภรรยาไม่ผิด แต่ตัวเองที่เป็นนักการเมืองผิด)
เท่าที่ทราบนะครับ (แหล่งข้อมูล [1],[2]) ใครมีเอกสารอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ ช่วยเพิ่มเติมก็จะขอบคุณมากครับ
- มีการเปลี่ยนราคาประเมินที่ดินผืนนี้ จากที่ซื้อมา 2,140 ล้านบาท และเปลี่ยนกฎการบริหารกองทุน เพื่อให้สามารถขายในราคาที่ถูกลงได้ (คุณหญิงพจมานซื้อไปในราคา 772 ล้านบาท) [1]
- ขณะซื้อมีกฎห้ามสร้างอาคารสูงบนที่ดินผืนนี้ แต่ในภายหลังถูกยกเลิก ทำให้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างมาก [1]
- ทำการโอนย้ายในวันที่ 30 ธันวาคม ซึ่งสามารถทำเรื่องได้ทันภายในปีนั้น เนื่องจากมีการเลื่อนวันหยุดสิ้นปี ไปเป็นวันที่ 2 มกราคม เป็นเหตุให้เสียภาษีในอัตราลดหย่อน (ซึ่งมีผลบังคับใช้ถึงสิ้นปีนั้นเท่านั้น) [2]
อืมม ก็ไม่ใช่นักกฎหมายนะครับ แต่คิดด้วยเหตุผลแล้วก็ต้องสรุปว่าพี่แม้วแกทุจริตครับ เป็นไปได้ไหมว่าทุกอย่างเป็นเรื่องบังเอิญ คือบังเอิญกองทุนตัดสินใจขายที่ดินผืนนี้ในราคาขาดทุน, บังเอิญห้ามสร้างอาคารสูง แต่ตอนหลังเปลี่ยนใจ, บังเอิญภาษีที่ดินอัตราลดหย่อนมันหมดอายุสิ้นปี แล้วโอนที่ดินทัน เพราะบังเอิญมีการเลื่อนวันหยุดสิ้นปี? มันก็เป็นไปได้ครับ แต่ถามว่าเรื่องการฮั้วกันอย่างนี้มันมีหลักฐานเป็นรูปธรรมไหม? มีพยานคนไหนจะบอกว่าผมช่วยแก้กฏให้พี่แม้ว เพราะพี่แกแอบสะกิด แล้วบอกว่าจะเลื่อนตำแหน่งให้ไหม? อันนี้แล้วแต่จะคิดนะครับ คดีก็ตัดสินกันไปแล้ว
เป็นไปไม่ได้ที่จะเขียนกฏหมายไม่ให้มีช่องโหว่ การบังคับใช้จึงควรดูเจตนาของกฏหมาย และเจตนาของผู้ละเมิด
อีกเรื่องที่ฟังข้อแก้ต่างไม่ขึ้นเอาซะเลยก็เรื่อง สินบน 2 ล้านบาท ที่อ้างว่าตั้งใจจะหยิบถุงขนม แต่หยิบผิดถุง อันนี้ก็ฟังไม่ขึ้นอีก... ศาลก็พิจารณาแล้ว (ละเมิดอำนาจศาล) เสียดายที่ยกฟ้องข้อหาติดสินบนเจ้าพนักงาน... ข่าวบอกว่าติดข้อกฎหมาย ไม่ชัดเจนว่าให้สินบนไปเพื่ออะไร และไม่ได้ให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจต่อคดี... จะว่ากันไปตามตัวกฎหมายก็ดีแหละครับ แต่พวกพยายามหาช่องว่างของกฎหมาย หรือแหย่หนวดเสือ โดยเฉพาะเป็นคดีดังและสำคัญด้วยแล้ว จึงอยากให้มีการลงโทษกันอย่างจริงจัง ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง เพราะกฏหมายยังไงมันก็เป็นข้อความที่เขียนขึ้น ต่างคนก็ต่างตีความได้หลากหลาย จะให้เขียนให้รัดกุม ไม่มีช่องโหว่เลยก็คงยาก เพราะฉะนั้นคนบังคับใช้ก็ควรดูเจตนาของกฏหมาย ประกอบกับเจตนาของผู้ละเมิดมีเหตุผลให้สงสัยได้หรือ ว่าพี่แม้วไม่ได้ตั้งใจโกง และโกงอย่างตะกละตะกรามโดยไม่กลัวเกรงกฏหมายแม้แต่น้อย
นี่แค่สองเรื่องนะครับ เรื่องอื่นๆ ทั้งซุกหุ้น สนามบินสุวรรณภูมิ ฯลฯ ก็ได้ยินมาว่าใช้วิชามารกันสุดๆ เหมือนกัน ถ้าดูจากคดีต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย และพัวพันหลายๆ คนในคณะรัฐมนตรี ประกอบกับหลักฐานแวดล้อมอันมากมาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่ำรวยขึ้นอย่างผิดสังเกตุของพี่แม้ว และญาติโกโหติกาแล้ว มีเหตุผลให้สงสัยได้หรือ ว่าพี่แม้วไม่ได้ตั้งใจโกง และก็โกงอย่างตะกละตะกรามโดยไม่ได้กลัวเกรงกฏหมายเลยแม้แต่น้อย...
No comments:
Post a Comment